ประวัติของสมาคม

ประวัติความเป็นมาของสมาคม

ความเป็นมาของ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน เริ่มจากการมีกฎหมายอาคารชุดเกิดขึ้นในประเทศไทย ปี 2522  และผู้ประกอบการเริ่มมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมและการดูแลคอนโดมิเนียมต้องมีผู้บริหารในยุคปี  2524  เริ่มมีผู้สนใจเข้าสู่อาชีพการบริหารทรัพย์สิ และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ  จึงเริ่มมีการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อที่จะต้องปฎิบัติหน้าที่ในแต่ละท่าน จึงกลายเป็นชมรม เรียกว่า “ชมรมนักบริหารอาคารชุด” มีผู้ก่อตั้งประมาณ 10 ท่าน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และประมาณปี 2527 เริ่มคิดก่อตั้งเป็นองค์กรที่ชัดเจนคือสมาคมฯ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้น จนมาถึงยุคซึ่งฝันของชมรมเป็นรูปธรรม เมื่อมีผู้คิดเห็นตรงกัน 3 ท่าน รวมก่อตั้งเป็นสมาคมฯ ประกอบด้วย

  1. คุณนคร       มุธุศรี
  2. คุณสมภพ    โสมาภา
  3. คุณประยูร    ดำรงชิตานนท์

ยื่นจดทะเบียนในชื่อ สมาคมนักบริหารชุมชน   ประมาณปี  2535 – 2536  ต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมตำรวจได้รับใบอนุญาตประมาณ 30 สิงหาคม 2538 ชื่อสมาคมนักบริหารชุมชน ประมาณปี 2542 ได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมบริหารทรัพย์สิน     และได้รับการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ใช้คำว่า“แห่งประเทศไทย” ต่อท้ายชื่อสมาคมฯ ได้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 โดยการสนับสนุนจาก…

  1. กรมที่ดิน
  2. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  3. สื่อมวลชน

ปัจจุบันสำนักส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชาติ   กระทรวงวัฒนธรรม   กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายทางวัฒนธรรม1 ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณสรรเสริญให้กับสมาคมฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2546 ว่าเป็นองค์กรที่กระทำความดีความชอบที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน

ผลงานสมาคมฯ

  1. ผลักดันให้มีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มคอนโดมิเนียม
    ทางคณะกรรมการสมาคมฯ  ได้ยื่นขอผ่อนผันกับทางกรมสรรพากร  ว่าไม่ควรมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ใช้เวลาประมาณ 5  ปี  คือ ปี 2535  จนเกือบปี  2540  จนได้รับความยินยอมจากกระทรวงการคลังยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ซื้อคอนโดมิเนียม  ซึ่งผลพวงจากการยกเลิกได้โยงมาถึงบ้านจัดสรรด้วย  เพราะใน  พรบ.  บ้านจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับนิติบุคคลบ้านจัดสรร  มีการกำหนดในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม  จึงได้รับงดเว้นตามไปด้วย
  2. รณรงค์ขอลดค่าน้ำประปาอาคารชุด
    ทางคณะกรรมการสมาคมฯ  ได้ต่อสู้เรื่องนี้ยาวนานมากกว่าเรื่องการต่อสู้เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยเริ่มตั้งแต่เป็นชมรมก่อนก่อตั้งเป็นสมาคมฯ  จนถึงก่อตั้งเป็นสมาคมฯ ปี 2538  ประมาณ  ปี  2543  ถึงจะได้รับการผ่อนผันจากการประปาให้ลดค่าน้ำของคอนโดมิเนียมลงมาส่วนหนึ่ง
  3. จัดหลักสูตรอบรมวิชาชีพบริหารทรัพย์สินในระดับอุดมศึกษา
    การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวง การบริหารทรัพย์สิน  ทั้งประเภทคอนโด-มิเนียม  ประเภทอาคารสำนักงาน   และประเภทบ้านจัดสรร   มายาวนานหลายปี   โดยผลักดันให้มีการอบรมในระยะสั้น  ระยะกลาง  และระยะยาว  ทั้งในส่วนของสมาคมฯ  ที่จัดทำด้วยตัวเอง  และในส่วนของสถาบันการศึกษา  เช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต  และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ
     
  4. ผลักดันพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน  (นิติบุคคลบ้านจัดสรร)
    สมาคมฯ  เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผลักดันในเรื่องนี้ให้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อจะไปใช้แทน  ปว. 286  และที่สำคัญก็คือในกฎหมายฉบับใหม่นั้นได้มีการขอให้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องทางกรมที่ดิน   และกระทรวงมหาดไทย  รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุ   เรื่องนิติบุคคลบ้านจัดสรรไว้ด้วย  ในเรื่องนี้  สมาคมฯ  ได้ต่อสู้และผลักดัน  โดยการจัดเสวนา  และกิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องนี้หลายครั้ง และคณะกรรมการของสมาคมฯ  ได้ยกร่างกฎหมายนิติบุคคลบ้านจัดสรรขึ้นมาเอง  ตั้งแต่ยกร่างกฎหมายครบทุกมาตราประมาณ 60 กว่ามาตรา  ยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยและถูกขอร้องจากกระทรวงมหาดไทย  และจากกรมที่ดินว่าให้ตัดทอนลงมาเรื่อย ๆ และท้ายสุดได้มีการตราไว้ประมาณ   4 – 5  มาตรา   และได้มีการผลักดันจนกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาปี  2543
  5. ยกร่างพระราชบัญญัติอาคารชุด และได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด/จากกรมที่ดินได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดอบรมโครงการกลยุทธ์การบริหารทรัพย์สินและเคหการรุ่นที่ 1-3 /จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  6. ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัย/จากคณะกรรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ
  7. เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองพัทยาและทิศทางของเมืองพัทยาในอนาคตอันจะนำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
  8. จัดสัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ตอบสนองสังคม
    การจัดสัมมนา  และกิจกรรมต่าง ๆ ถือว่าทางสมาคมฯ  มีส่วนช่วยในการแจ้งข่าวสาร  หรือให้ความรู้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้เป็นระยะ ถือว่าเป็นผลงานที่สื่อมวลชนให้การยอมรับกับสมาคมฯ  โดยตลอดมา
  9. ผลงานด้านการเขียนบทความสู่สาธารณช
    ผลงานอีกด้านซึ่งมาจากกรรมการสมาคมฯ  ที่มีความชอบในการเขียนบทความ  ซึ่งมีหลายท่านเช่น คุณรังสรรค์  นันทกาวงค์  และคุณนคร  มุธุศรี  ที่เขียนบทความเน้นทางด้านวิชาชีพของการบริหารทรัพย์สินในระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปี  นับเป็นพันกว่าเรื่อง  การผลิตหนังสือเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สิน  เรื่องการตอบปัญหา  ประมวลกฎหมาย  หรือเรื่องเอกสารที่จะใช้ประกอบการบรรยายแต่ละครั้ง เช่น  ไขปัญหาคอนโด  คู่มือกฎหมาย  

วัตถุประสงค์

วัตถุประสงค์ของสมาคมมีดังต่อไปนี้

  1. เพื่อยกระดับวิชาชีพการบริหารทรัพย์สินให้เป็นที่รู้จักและยอมรับต่อสาธารณชน
  2. เพื่อเป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ความรู้วิชาการ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิก
  3. เพื่อเสริมสร้างความสมานสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในบรรดาสมาชิก
  4. เพื่อเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารทรัพย์สิน
  5. เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการบริหารทรัพย์สิน การบริหารอาคาร การบริหารบ้านจัดสรร การบริหารชุมชน หรือวิชาการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ การบรรยายทางวิชาการ การอบรม การสัมมนา การศึกษาดูงาน การทัศนศึกษา หรือ กิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
  6. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชน ในการรักษาสภาพแวดล้อม
  7. เพื่อดำเนินกิจการหรือกิจกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อคน กลุ่มคน ชุมชน สาธารณชน หรือต่อประเทศไทย
  8. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานลักษณะเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ปฏิบัติการ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
  9. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
  10. เพื่อดำเนินการทดสอบและให้การรับรองบุคลากรตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  11. เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ของผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารในประเทศ และคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน

จรรยาบรรณ

จรรยาบรรณวิชาชีพ

จรรยาบรรณข้อ ๑ ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญในงานวิชาชีพของตน รับผิดชอบ และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้พักอาศัย และผู้มาเยือน (Safety and Security)

จรรยาบรรณข้อ ๒ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพการบริหารทรัพย์สิน (Professional Ethics)

จรรยาบรรณข้อ ๓ ต้องรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน (Confidentiality)

จรรยาบรรณข้อ ๔ ต้องแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความรู้ตามข้อเท็จเจริง และหลักวิชาชีพเท่านั้น (Unbiased Professional Opinion)

จรรยาบรรณข้อ ๕ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Non-Conflict of interest)

จรรยาบรรณข้อ ๖ ต้องทำธุรกิจโดยแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่กระทำการใดๆ โดยจงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง (To Act in Good Faith)

จรรยาบรรณข้อ ๗ ต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ของวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน ให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะชน (Good Representative)