ความเป็นมาของ สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทยตั้งแต่อดีต จนถึง ปัจจุบัน เริ่มจากการมีกฎหมายอาคารชุดเกิดขึ้นในประเทศไทย ปี 2522 และผู้ประกอบการเริ่มมีการก่อสร้างคอนโดมิเนียมและการดูแลคอนโดมิเนียมต้องมีผู้บริหารในยุคปี 2524 เริ่มมีผู้สนใจเข้าสู่อาชีพการบริหารทรัพย์สิ และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จึงเริ่มมีการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อที่จะต้องปฎิบัติหน้าที่ในแต่ละท่าน จึงกลายเป็นชมรม เรียกว่า “ชมรมนักบริหารอาคารชุด” มีผู้ก่อตั้งประมาณ 10 ท่าน ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด และประมาณปี 2527 เริ่มคิดก่อตั้งเป็นองค์กรที่ชัดเจนคือสมาคมฯ แต่ยังไม่ถึงขั้นนั้น จนมาถึงยุคซึ่งฝันของชมรมเป็นรูปธรรม เมื่อมีผู้คิดเห็นตรงกัน 3 ท่าน รวมก่อตั้งเป็นสมาคมฯ ประกอบด้วย
- คุณนคร มุธุศรี
- คุณสมภพ โสมาภา
- คุณประยูร ดำรงชิตานนท์
ยื่นจดทะเบียนในชื่อ สมาคมนักบริหารชุมชน ประมาณปี 2535 – 2536 ต่อสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และกรมตำรวจได้รับใบอนุญาตประมาณ 30 สิงหาคม 2538 ชื่อสมาคมนักบริหารชุมชน ประมาณปี 2542 ได้ขอเปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมบริหารทรัพย์สิน และได้รับการพิจารณาอนุญาตจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติให้ใช้คำว่า“แห่งประเทศไทย” ต่อท้ายชื่อสมาคมฯ ได้เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 โดยการสนับสนุนจาก…
- กรมที่ดิน
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- สื่อมวลชน
ปัจจุบันสำนักส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กลุ่มส่งเสริมเครือข่ายทางวัฒนธรรม1 ได้มอบใบประกาศเกียรติคุณสรรเสริญให้กับสมาคมฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2546 ว่าเป็นองค์กรที่กระทำความดีความชอบที่มีผลงานอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ศาสนา และประชาชน
- ผลักดันให้มีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มคอนโดมิเนียม
ทางคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ยื่นขอผ่อนผันกับทางกรมสรรพากร ว่าไม่ควรมีการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ใช้เวลาประมาณ 5 ปี คือ ปี 2535 จนเกือบปี 2540 จนได้รับความยินยอมจากกระทรวงการคลังยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับผู้ซื้อคอนโดมิเนียม ซึ่งผลพวงจากการยกเลิกได้โยงมาถึงบ้านจัดสรรด้วย เพราะใน พรบ. บ้านจัดสรรที่ดินเกี่ยวกับนิติบุคคลบ้านจัดสรร มีการกำหนดในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงได้รับงดเว้นตามไปด้วย - รณรงค์ขอลดค่าน้ำประปาอาคารชุด
ทางคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ต่อสู้เรื่องนี้ยาวนานมากกว่าเรื่องการต่อสู้เรื่องภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเริ่มตั้งแต่เป็นชมรมก่อนก่อตั้งเป็นสมาคมฯ จนถึงก่อตั้งเป็นสมาคมฯ ปี 2538 ประมาณ ปี 2543 ถึงจะได้รับการผ่อนผันจากการประปาให้ลดค่าน้ำของคอนโดมิเนียมลงมาส่วนหนึ่ง - จัดหลักสูตรอบรมวิชาชีพบริหารทรัพย์สินในระดับอุดมศึกษา
การจัดหลักสูตรฝึกอบรมให้กับผู้ที่อยู่ในแวดวง การบริหารทรัพย์สิน ทั้งประเภทคอนโด-มิเนียม ประเภทอาคารสำนักงาน และประเภทบ้านจัดสรร มายาวนานหลายปี โดยผลักดันให้มีการอบรมในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งในส่วนของสมาคมฯ ที่จัดทำด้วยตัวเอง และในส่วนของสถาบันการศึกษา เช่นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และมหาวิทยาลัยอื่น ๆ
- ผลักดันพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน (นิติบุคคลบ้านจัดสรร)
สมาคมฯ เป็นหนึ่งในองค์กรที่ผลักดันในเรื่องนี้ให้มีการยกร่างกฎหมายเพื่อจะไปใช้แทน ปว. 286 และที่สำคัญก็คือในกฎหมายฉบับใหม่นั้นได้มีการขอให้ทางผู้ที่เกี่ยวข้องทางกรมที่ดิน และกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งสภาผู้แทนราษฎร ได้บรรจุ เรื่องนิติบุคคลบ้านจัดสรรไว้ด้วย ในเรื่องนี้ สมาคมฯ ได้ต่อสู้และผลักดัน โดยการจัดเสวนา และกิจกรรมต่าง ๆ ในเรื่องนี้หลายครั้ง และคณะกรรมการของสมาคมฯ ได้ยกร่างกฎหมายนิติบุคคลบ้านจัดสรรขึ้นมาเอง ตั้งแต่ยกร่างกฎหมายครบทุกมาตราประมาณ 60 กว่ามาตรา ยื่นต่อกระทรวงมหาดไทยและถูกขอร้องจากกระทรวงมหาดไทย และจากกรมที่ดินว่าให้ตัดทอนลงมาเรื่อย ๆ และท้ายสุดได้มีการตราไว้ประมาณ 4 – 5 มาตรา และได้มีการผลักดันจนกฎหมายฉบับนี้คลอดออกมาปี 2543 - ยกร่างพระราชบัญญัติอาคารชุด และได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด/จากกรมที่ดินได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการดำเนินการจัดอบรมโครงการกลยุทธ์การบริหารทรัพย์สินและเคหการรุ่นที่ 1-3 /จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอัคคีภัย/จากคณะกรรมการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนแห่งชาติ
- เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองพัทยาและทิศทางของเมืองพัทยาในอนาคตอันจะนำไปสู่ประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม
- จัดสัมมนา และกิจกรรมต่างๆ ตอบสนองสังคม
การจัดสัมมนา และกิจกรรมต่าง ๆ ถือว่าทางสมาคมฯ มีส่วนช่วยในการแจ้งข่าวสาร หรือให้ความรู้กับผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้เป็นระยะ ถือว่าเป็นผลงานที่สื่อมวลชนให้การยอมรับกับสมาคมฯ โดยตลอดมา - ผลงานด้านการเขียนบทความสู่สาธารณช
ผลงานอีกด้านซึ่งมาจากกรรมการสมาคมฯ ที่มีความชอบในการเขียนบทความ ซึ่งมีหลายท่านเช่น คุณรังสรรค์ นันทกาวงค์ และคุณนคร มุธุศรี ที่เขียนบทความเน้นทางด้านวิชาชีพของการบริหารทรัพย์สินในระยะเวลาประมาณ 10 กว่าปี นับเป็นพันกว่าเรื่อง การผลิตหนังสือเกี่ยวกับการบริหารทรัพย์สิน เรื่องการตอบปัญหา ประมวลกฎหมาย หรือเรื่องเอกสารที่จะใช้ประกอบการบรรยายแต่ละครั้ง เช่น ไขปัญหาคอนโด คู่มือกฎหมาย
วัตถุประสงค์ของสมาคมมีดังต่อไปนี้
- เพื่อยกระดับวิชาชีพการบริหารทรัพย์สินให้เป็นที่รู้จักและยอมรับต่อสาธารณชน
- เพื่อเป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ความรู้วิชาการ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิก
- เพื่อเสริมสร้างความสมานสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในบรรดาสมาชิก
- เพื่อเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารทรัพย์สิน
- เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการบริหารทรัพย์สิน การบริหารอาคาร การบริหารบ้านจัดสรร การบริหารชุมชน หรือวิชาการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ การบรรยายทางวิชาการ การอบรม การสัมมนา การศึกษาดูงาน การทัศนศึกษา หรือ กิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชน ในการรักษาสภาพแวดล้อม
- เพื่อดำเนินกิจการหรือกิจกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อคน กลุ่มคน ชุมชน สาธารณชน หรือต่อประเทศไทย
- ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานลักษณะเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ปฏิบัติการ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
- เพื่อดำเนินการทดสอบและให้การรับรองบุคลากรตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ของผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคารในประเทศ และคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน
จรรยาบรรณข้อ ๑ ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญในงานวิชาชีพของตน รับผิดชอบ และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้พักอาศัย และผู้มาเยือน (Safety and Security)
จรรยาบรรณข้อ ๒ ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพการบริหารทรัพย์สิน (Professional Ethics)
จรรยาบรรณข้อ ๓ ต้องรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน (Confidentiality)
จรรยาบรรณข้อ ๔ ต้องแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความรู้ตามข้อเท็จเจริง และหลักวิชาชีพเท่านั้น (Unbiased Professional Opinion)
จรรยาบรรณข้อ ๕ ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Non-Conflict of interest)
จรรยาบรรณข้อ ๖ ต้องทำธุรกิจโดยแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่กระทำการใดๆ โดยจงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง (To Act in Good Faith)
จรรยาบรรณข้อ ๗ ต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ของวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน ให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะชน (Good Representative)