สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
หมวด 1 ชื่อ, เครื่องหมาย, และสำนักงานใหญ่
ข้อ 1 สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมบริหารทรัพย์สินแห่งประเทศไทย” มีชื่อย่อภาษาไทยว่า “ส. บ. ท.” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “PROPERTY MANAGEMENT ASSOCIATION OF THAILAND” และมีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า “PMAT”
ข้อ 2 เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปอาคารสูงและมีบ้านอยู่ภายในครึ่งวงกลม ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษและภาษาไทยของสมาคมอยู่ภายใต้เครื่องหมายนั้นด้วย
ข้อ 3 สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่เลขที่ 33 อาคารแอทออฟฟิศ ถนนประชาชื่นนนทบุรี ตำบลบางเขน อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000
ข้อ 4 วัตถุประสงค์ของสมาคมมีดังต่อไปนี้
- เพื่อยกระดับวิชาชีพการบริหารทรัพย์สินให้เป็นที่รู้จักและยอมรับต่อสาธารณชน
- เพื่อเป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสาร ความรู้วิชาการ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิก
- เพื่อเสริมสร้างความสมานสามัคคี ความร่วมมือ การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ในบรรดาสมาชิก
- เพื่อเป็นที่ปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการบริหารทรัพย์สิน
- เพื่อเผยแพร่ความรู้ในการบริหารทรัพย์สิน การบริหารอาคาร การบริหารบ้านจัดสรร การบริหารชุมชน หรือวิชาการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ในรูปแบบการสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้ การบรรยายทางวิชาการ การอบรม การสัมมนา การศึกษาดูงาน การทัศนศึกษา หรือ กิจกรรมอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน โดยให้ความร่วมมือแก่หน่วยงานภาครัฐหรือหน่วยงานภาคเอกชน ในการรักษาสภาพแวดล้อม
- เพื่อดำเนินกิจการหรือกิจกรรมให้เป็นประโยชน์ต่อคน กลุ่มคน ชุมชน สาธารณชน หรือต่อประเทศไทย
- ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานลักษณะเดียวกันทั้งในและต่างประเทศ เพื่อประสานงานและแลกเปลี่ยนทางวิชาการ ปฏิบัติการ หรือการอื่นใดที่เกี่ยวข้อง
- ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
- เพื่อดำเนินการทดสอบ และให้การรับรองบุคลากรตามมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- เพื่อยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน ของผู้ประกอบอาชีพช่างไฟฟ้าภายในอาคาร ในประเทศไทย และคุ้มครองความปลอดภัยสาธารณะจากการทำงาน
ข้อ 5 สมาชิกของสมาคมมี 4 ประเภท คือ
(1) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้มีอุปการคุณ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์เชิญเข้าเป็นสมาชิก และบุคคลนั้นตอบรับเชิญ
สมาชิกประเภทที่ (1) สามารเข้าประชุมใหญ่ได้ แต่ไม่มีสิทธิในการออกเสียง และมีอายุสมาชิกภาพเท่ากับวาระของคณะกรรมการในชุดที่แต่งตั้ง
(2) สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการบริหารทรัพย์สิน ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลและรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพย์สินด้วย เช่น นิติบุคคลอาคารชุด นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
(3) สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบการบริหารทรัพย์สินในฐานะบุคคลธรรมดาและรวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพย์สินด้วย เช่น ผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ผู้จัดการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
สมาชิกประเภทที่ (2) และ (3) ได้รับสิทธิพิเศษส่วนลดสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมตามเงื่อนไข สามารถเข้าประชุมใหญ่ และมีสิทธิในการออกเสียง เว้นแต่จะขาดการชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปี ในปีนั้นๆ จะไม่ได้รับสิทธิ์ส่วนลด และไม่มีสิทธิออกเสียงในที่ประชุมใหญ่
(4) สมาชิกสมทบ ได้แก่ ผู้สนใจโดยทั่วไป
สมาชิกประเภท (4) ได้รับสิทธิพิเศษส่วนลดสำหรับการเข้าร่วมกิจกรรมตามเงื่อนไขเว้นแต่จะขาดการชำระค่าบำรุงสมาชิกประจำปีในปีนั้นๆ ไม่สามารถเข้าประชุมใหญ่ และไม่มีสิทธิในการออกเสียง
ข้อ 6 ผู้ประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก ให้ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการ โดยมีสมาชิกปัจจุบันลงชื่อรับรองจำนวน ๒ คน
ข้อ 7 ให้เลขาธิการนำใบสมัครเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร เพื่อพิจารณาลงมติว่า ควรจะรับเข้าเป็นสมาชิกหรือไม่ ถ้าอนุมัติให้รับเข้าเป็นสมาชิกให้ถือว่าสมาชิกภาพเริ่มตั้งแต่วันที่ชำระค่าบำรุงสมาคม หากคณะกรรมการบริหารไม่อนุมัติให้เป็นสมาชิกหรืออนุมัติให้รับเข้าเป็นสมาชิกก็ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครทราบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารได้มีมติ
ข้อ 8 ผู้สมัครจะต้องชำระค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงตามข้อ 9 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจากเลขาธิการ หากพ้นกำหนดแล้วผู้นั้นไม่ชำระให้ถือว่าคำขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกเป็นอันยกเลิก
ข้อ 9 ค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคม
1. ค่าลงทะเบียน |
2,500 บาท |
2. ค่าบำรุงสมาคม ประเภทสมาชิกกิตติมศักดิ์ 2. ค่าบำรุงสมาคม ประเภทสมาชิกสามัญ ปีละ |
ไม่เสียค่าบำรุงสมาชิกรายปี 10,000 บาท |
3. ค่าบำรุงสมาคม ประเภทสมาชิกวิสามัญ |
1,500 บาท |
4. ค่าบำรุงสมาคม ประเภทสมาชิกสมทบ |
1,000 บาท |
ข้อ 10 สมาชิกมีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม และได้รับประโยชน์ซึ่งสมาคมจักอำนวยให้ได้ตามวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
ข้อ 11 สมาชิกมีสิทธิ์ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารของสมาคมฯ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับนี้ จะต้องมีอายุสมาชิกไม่น้อยกว่า ๓ เดือน เว้นแต่บางตำแหน่งที่ระบุไว้ในข้อ ๒๐, ๒๒, ๒๖ และ ๒๗
ข้อ 12 สมาชิกที่เป็นนิติบุคคล จะต้องแต่งตั้งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจ เพื่อปฏิบัติภารกิจในหน้าที่และใช้สิทธิ์แห่งสมาชิก ในการนี้ผู้แทนผู้มีอำนาจต้องปฏิบัติด้วยตนเอง จะมอบหมาย บุคคลอื่นต่ออีกมิได้
ข้อ 13 สมาชิกสามัญเท่านั้นมีสิทธิรับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารสมาคม
ข้อ 14 สมาชิกมีหน้าที่ปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของข้อบังคับและระเบียบของสมาคม ทั้งต้องรักษา คุณธรรมความดีงาม ไม่ประพฤติเสื่อมเสียด้วยประการทั้งปวง ร่วมมือในกิจกรรมของสมาคมให้เจริญก้าวหน้า มีความสมานสามัคคี
ข้อ 15 สมาชิกภาพสิ้นสุดลงเมื่อ
(1) ตายหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
(2) ลาออกโดยแจ้งหนังสือไปยังเลขาธิการ
(3) ต้องคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
(4) ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเป็นบุคคลเสมือนไร้ความสามารถ
(5) ไม่ชำระค่าบำรุงเกิน 3 ปีหลังจากที่เลขาธิการได้เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร โดยการส่งไปรษณีย์ตอบรับ ณ ภูมิลำเนาแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน และคณะกรรมการได้มีมติให้ขาดจากสมาชิกภาพ
(6) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารลงมติให้ออก โดยคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุม เพราะสมาชิกผู้นั้นฝ่าฝืนข้อบังคับ หรือกระทำตนเป็นปรปักษ์ต่อสมาคม หรือกระทำให้เสื่อมเสียเกียรติของสมาคม
ข้อ 16 คณะกรรมการบริหารของสมาคมเป็นตัวแทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคล ภายนอก มีจำนวนไม่เกิน 15 คน ได้แก่ ตำแหน่ง นายก อุปนายก เลขาธิการ เหรัญญิก นายทะเบียน ปฏิคม หาทุน ประชาสัมพันธ์ สวัสดิการ วิเทศสัมพันธ์ และตำแหน่งอื่นๆ ตามแต่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควร
ข้อ 17 เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร จะพิจารณาแต่งตั้ง ที่ปรึกษาคณะกรรมการหรือแต่งตั้ง สมาชิกสามัญให้เป็นกรรมการผู้ช่วย หรืออนุกรรมการตำแหน่งใด ตามจำนวนซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควร
ข้อ 18 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของสมาคมตามวัตถุประสงค์ และภายใต้ ข้อบังคับนี้
ข้อ 19 กรรมการบริหารสมาคมดำรงตำแหน่งโดยปรกติคราวละ 2 ปี ผู้พ้นจากตำแหน่งไปแล้วมีสิทธิ์รับเลือกใหม่ได้อีก เว้นแต่ตำแหน่งที่ระบุไว้ในข้อ 27
ข้อ 20 ก่อนวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ไม่น้อยกว่า 2 เดือน ในปีที่จะต้องมีการเลือกตั้งกรรมการบริหาร ให้คณะกรรมการบริหารแต่งตั้งคณะกรรมการ สรรหานายก อันประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
(1) อุปนายกสมาคมฯ 1 ท่าน
(2) กรรมการสมาคมฯ 1 ท่าน
(3) ที่ปรึกษาสมาคมฯ 1 ท่าน
โดยคณะกรรมการสรรหาทั้งหมดได้รับการแต่งตั้งจากเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในคราวที่มีการลงคะแนนเสียงแต่งตั้ง แบบของการลงคะแนนเสียงแต่งตั้งให้เป็นไปตามที่ที่ประชุมกำหนด ส่วนประธานคณะกรรมการสรรหาให้คณะกรรมการสรรหาเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น
ข้อ 21 ให้นายกดำเนินการรีบแจ้งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสรรหา ภายในกำหนด 7 วัน นับแต่วันที่มีการแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหารีบดำเนินการประกาศรับสมัคร ทาบทามเจรจา และเสนอชื่อผู้ที่สมควรจะได้รับการเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม จำนวน 3 ท่าน ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา
ข้อ 22 ผู้ที่สมควรจะได้รับการคัดเลือก และเสนอชื่อเป็น นายก ตามข้อ 21 จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
(1) ต้องเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร หรือที่ปรึกษาสมาคมมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งสมัย หรือ
(2) เป็นสมาชิกสามัญติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี จนถึงวันแต่งตั้งในที่ประชุม
(3) หากสมาชิกสามัญ เป็นนิติบุคคล สมาชิกสามัญนั้น ๆ จะต้องระบุชื่อบุคคลธรรมดาให้กับคณะกรรมการสรรหา โดยทำเป็นหนังสือรับรองก่อนการสรรหาเสร็จสิ้น
โดยข้อ 1 หรือข้อ 2 จะต้องไม่ติดค้างค่าบำรุงสมาชิก
คณะกรรมการสรรหาไม่มีสิทธิเสนอชื่อตนเองเป็นนายกสมาคมฯ
ข้อ 23 นอกจากระบุในข้อ 20 และข้อ 21 แล้วการเสนอชื่ออาจมาจากสมาชิกสามัญเสนอต่อคณะกรรมการสรรหาก็ได้ โดยในการเสนอชื่อในข้อนี้ไม่จำกัดจำนวนผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นนายก ส่วนการเสนอชื่อให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมีคุณสมบัติตามข้อ 22 และจะต้องเสนอชื่อก่อนวันเลือกตั้งนายกฯ ไม่น้อยกว่า 30 วัน เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ ผู้สมัครตำแหน่งนายกต้องไม่ได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการสรรหา
ข้อ 24 ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้มีการเลือกตั้งนายกก่อน โดยการเสนอชื่อจากคณะกรรมการสรรหาหรือจากสมาชิกสามัญ เมื่อมีการเลือกตั้งนายกได้แล้ว จึงให้ทำการเลือกตั้งและแต่งตั้งกรรมการบริหารต่อไป
ข้อ 25 ในวันประชุมใหญ่สามัญประจำปี ให้ทำการเลือกตั้งกรรมการบริหารจำนวนตั้งแต่ 3 คน แต่ไม่เกิน 7 คน และให้เป็นสิทธิของนายกทำการแต่งตั้งกรรมการบริหารอีกไม่เกิน 7 คน
เมื่อเลือกตั้งและแต่งตั้งแล้วเสร็จตามวรรค 1 แล้ว ให้นายกทำการจัดสรรตำแหน่งตามข้อ 16 ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันประชุมใหญ่
ข้อ 26 อุปนายกเลขาธิการและเหรัญญิกต้องเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1 ปี
ข้อ 27 นายกสมาคมจะได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งเกินกว่า 3 สมัยติดต่อกันไม่ได้
ข้อ 28 ถ้าตำแหน่งนายกว่างลง ให้อุปนายกทำหน้าที่แทน ถ้าตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนถึงกำหนดการเลือกตั้ง ให้เอกสิทธิ์คณะกรรมการเชิญสมาชิกสามัญเข้าดำรงตำแหน่งแทน และให้ดำรงตำแหน่งเพียงระยะเวลาของผู้ที่ตนแทน
ข้อ 29 โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของที่ประชุม นายกจะให้กรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่สมาคมพ้นตำแหน่งใด และตั้งกรรมการอื่นหรือบุคคลอื่นแทนก็ได้ ตามจำนวนกรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่สมาคมที่พ้นตำแหน่งนั้น
ข้อ 30 นายกมีอำนาจหน้าที่ควบคุมกิจการของสมาคม และวางระเบียบให้เป็นไปตามข้อบังคับและมติของคณะกรรมการ เป็นหัวหน้าคณะกรรมการบริหารหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม มีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานของสมาคม กับอำนาจแต่งตั้งถอดถอนลงโทษพนักงานของสมาคมตามมติคณะกรรมการบริหาร
ข้อ 31 ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคมประชุมกัน อย่างน้อยปีละไม่น้อยกว่า 3 ครั้ง ในการประชุมจะต้องมีกรรมการบริหารมาร่วมประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 32 ให้มีการประชุมใหญ่สามัญปีละครั้ง หากมีกิจการใดที่คณะกรรมการบริหารเห็นสมควรจะให้มีการประชุมใหญ่ก็ให้ทำได้ หรือเมื่อสมาชิกจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเห็นความจำเป็นรีบด่วนที่จะก่อความเสียหายแก่สมาคม ก็ให้ยื่นคำร้องเป็นหนังสือต่อเลขาธิการขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ในกรณีนี้ให้เลขาธิการจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ถ้าเลขาธิการไม่จัดให้มีการประชุมตามสมาชิกร้องขอภายในกำหนดเวลาดังกล่าว สมาชิกอาจจัดประชุมกันเองได้ แต่จำนวนสมาชิกที่มาประชุม จะต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ 33 การประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญที่คณะกรรมการเรียกประชุม ต้องมีสมาชิกมาประชุม ไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ ๓๔ การประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ หากครั้งแรกมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมให้เรียกประชุมใหญ่อีกครั้ง การประชุมในครั้งนี้จะมีสมาชิกมาประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุมเว้นแต่สมาชิกเรียกประชุมกันเอง หากครั้งแรกมีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุม ให้ถือเป็นอันยกเลิก
ข้อ 35 เลขาธิการสมาคม จะต้องแจ้งกำหนดการประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ พร้อมด้วยส่งวาระการประชุมให้สมาชิกทราบ หรือส่งเอกสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน
ข้อ 36 มติของที่ประชุมใหญ่ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ หากมีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ 37 ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุมใหญ่ ถ้านายกสมาคมไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้อุปนายกเป็นประธานในที่ประชุมแทน หากทั้งนายกและอุปนายกไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการบริหารของสมาคมคนหนึ่งคนใดเป็นประธานในที่ประชุม ในกรณีสมาชิกจัดประชุมกันเองตามข้อ 32 ให้สมาชิกลงมติเลือกบุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นประธาน
ข้อ 38 การออกเสียงลงมติในที่ประชุมใหญ่มี 3 วิธีคือ
(1) ออกเสียงลงมติโดยเปิดเผย โดยใช้วิธียกมือขึ้นเหนือศีรษะ
(2) ออกเสียงลงมติโดยลับ โดยใช้วิธีเขียนในบัตรลงมติ
(3) ออกเสียงลงมติผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
การออกเสียงลงมติโดยปกติใช้วิธีเปิดเผย เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะลงมติให้มีการลงมติโดยวิธีลับ
ข้อ 39 กิจการอันพึงกระทำในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี มีดังนี้
(1) รับรองรายงานการประชุมครั้งก่อน
(2) พิจารณารายงานประจำปีของคณะกรรมการบริหาร
(3) พิจารณาอนุมัติงบดุล
(4) เลือกตั้งนายกและคณะกรรมการบริหาร ( ในปีที่ครบกำหนด )
(5) แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชี และกำหนดค่าตอบแทน
(6) เรื่องอื่นๆ
หมวด 6 การเงินการบัญชีและทรัพย์สิน
ข้อ 40 ให้คณะกรรมการบริหารของสมาคม จัดให้มีเอกสารการเงินการบัญชีและทรัพย์สินของสมาคม ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการบัญชี เพื่อแสดงฐานะของสมาคม และพร้อมการตรวจสอบ
ข้อ 41 – ยกเลิกข้อ 41 ทั้งหมด –
ข้อ 42 ให้คณะกรรมการบริหารจัดทำงบดุลของสมาคมปีละครั้ง แล้วให้ผู้ตรวจสอบบัญชีตรวจรับรองไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อเสนองบดุลต่อที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีพิจารณาอนุมัติ ปีการบัญชีให้ถือเอาวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี เป็นสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม
ข้อ 43 ให้นำเงินของสมาคมไปฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่ง หรือหลายแห่ง สุดแต่คณะกรรมการบริหารจะเห็นสมควรการลงนามในเช็คสั่งจ่ายเงินของสมาคม ให้นายกสมาคมหรืออุปนายกกับเหรัญญิกเป็นผู้ลงนามร่วมกัน
หมวด 7 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคม
ข้อ 44 การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับของสมาคม จะทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้นมติของที่ประชุมใหญ่ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกผู้เข้าร่วมประชุม
ข้อ 45 หากสมาคมต้องเลิกไปด้วยเหตุใดๆ หลังจากชำระบัญชีเรียบร้อยแล้ว ให้บรรดาทรัพย์สินที่เหลืออยู่ จะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม ให้ตกเป็นสมบัติของมูลนิธิสายใจไทย
จรรยาบรรณข้อ 1 ต้องใช้ความรู้ ความชำนาญในงานวิชาชีพของตน รับผิดชอบ และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของผู้พักอาศัย และผู้มาเยือน (Safety and Security)
จรรยาบรรณข้อ 2 ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตในวิชาชีพการบริหารทรัพย์สิน (Professional Ethics)
จรรยาบรรณข้อ 3 ต้องรักษาความลับที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน (Confidentiality)
จรรยาบรรณข้อ 4 ต้องแสดงความคิดเห็น และเผยแพร่ความรู้ตามข้อเท็จจริง และหลักวิชาชีพเท่านั้น (Unbiased Professional Opinion)
จรรยาบรรณข้อ 5 ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน (Non-Conflict of Interest)
จรรยาบรรณข้อ 6 ต้องทำธุรกิจโดยแข่งขันอย่างเป็นธรรม และ ไม่กระทำการใด ๆ โดยจงใจให้ผู้ประกอบการรายอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง (To Act in Good Faith)
จรรยาบรรณข้อ 7 ต้องส่งเสริมภาพลักษณ์ของวิชาชีพบริหารทรัพย์สิน ให้เป็นที่ยอมรับต่อสาธารณะชน (Good Representative)
หลักเกณฑ์ และคุณสมบัติของผู้ประกอบการ ในการขอรับใบรับรองประกอบธุรกิจบริหารทรัพย์สิน ประเภทที่อยู่อาศัย โดยสมาคมฯ ( Certified Residential Property Management Company)
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องเป็นสมาชิกประเภทสามัญของสมาคมฯ และสมาชิกภาพต้องเป็นปกติ
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯ ต้องเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนในประเทศไทย
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯ ต้องมีผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 1 คน ที่มีบัตรอนุญาตผู้บริหารทรัพย์สินซึ่งออกโดย สมาคมฯเท่านั้น และบุคคลดังกล่าวต้องถือหุ้นสามัญไม่น้อยกว่า 30% ของหุ้นสามัญที่จดทะเบียน และชำระแล้วทั้งหมด
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องมีทุนจดทะเบียน และชำระแล้วของนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องมีผู้ถือหุ้นไทยเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมด และของเงินทุนจดทะเบียน ทั้งขณะยื่นขอใบรับรองฯ และครอบครองใบรับรองฯ
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯ ต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกศาลพิพากษาเป็นที่สุดว่ากระทำผิดในการประกอบกิจการก่อนหน้า 1 ปี นับตั้งแต่วันพิพากษาเป็นที่สุดจนถึงวันที่ได้รับการอนุมัติใบรับรองฯจากสมาคมฯ
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องประกอบกิจการบริหารทรัพย์สิน มาแล้วอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือมีผู้ ถือหุ้นสามัญมีประสบการณ์การทำงานในตำแหน่งผู้จัดการบริหารทรัพย์สินประเภทอาคารชุด/บ้านจัดสรร ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 4 ปี และในทั้ง 2 กรณีนั้น จะต้องไม่เคยเป็นผู้ถูกศาลพิพากษากระทำผิดถึงที่สุดในการประกอบกิจการว่าได้กระทำผิ
- ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการออกใบรับรองฯ และคณะกรรมการสมาคมฯ
– คณะกรรมการพิจารณาใบรับรองฯประกอบด้วยคณะกรรมการพิจารณา 2 ชุด คือ
1. อดีตนายกสมาคมฯ 3 ท่าน และอุปนายกปัจจุบัน 2 ท่าน
2. คณะกรรมการสมาคมฯ - ผู้ยื่นขอใบรับรองฯต้องชำระค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองฯ ครั้งแรก 10,000 บาท
- ใบรับรองฯจะมีอายุ 2 ปี
- ผู้ยื่นขอรับ และครอบครองใบรับรองฯ จะต้องยินยอมให้สมาคมฯมีสิทธิที่จะเปิดเผยสถานะของใบรับรองฯของผู้ยื่นต่อสาธารณะได้ตลอดระยะเวลาของการเป็นสมาชิกสมาคมฯและครอบครองใบรับรองฯ
หมายเหตุ ข้อบังคับนี้แก้ไขตามมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566
ประชุมเมื่อ วันที่ 29 กันยายน 2566